ข่าวประชาสัมพันธ์ทั่วไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ทั่วไป อัพเดต : 18 กุมภาพันธ์ 2564

มจพ. ให้การต้อนรับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและคณะผู้บริหารกระทรวงฯ

ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงอุดมศึกษาฯ เยี่ยมชมสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ INSTED (สทอศ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดยมี ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัย ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน รักษาการอธิการบดี และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้การต้อนรับ วัตถุประสงค์เพื่อเยี่ยมชมการทำงานของห้องปฏิบัติการดาวเทียม สทอศ. ห้องวัดสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุและไมโครเวฟสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และห้องปฏิบัติการวัดสัญญาณไร้คลื่นสะท้อน (Anechoic chamber) ณ อาคารบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) โดยมีทีมคณาจารย์ นำโดย อาจารย์ ดร.พงศธร สายสุจริต รศ.ดร.อุดมเกียรติ นนทแก้ว คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ศ.ดร.นิสัย เฟื่องเวโรจน์สกุล คณบดี TGGS ศ.ดร.สุวัฒน์ กุลธนปรีดา ผศ.ดร.ธาดา สุขศิลา ผศ.ดร.ธีรวัจน์ แสงเพชร์ ผศ.ดร.สุรเมธ เฉลิมวิสุตม์กุล และทีมนักศึกษาโครงการ KNACKSAT ร่วมนำเสนอผลงาน
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ร่วมบรรยายบนเวทีพร้อมทั้งให้แนวความคิดการต่อยอดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศรวมถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเริ่มต้นจากผลงานโครงการดาวเทียม KNACKSAT ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกที่สร้างขึ้นทุกขั้นตอนภายในประเทศไทยจากห้องปฏิบัติการดาวเทียมและได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมการบิน-อวกาศ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ในปัจจุบันห้องปฏิบัติการดาวเทียมไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแต่การวิจัยทางด้านดาวเทียมเท่านั้น หากยังมีการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับจรวดขนาดเล็ก เช่น การพัฒนาจรวดโดยใช้เชื้อเพลิงแข็งสำหรับใช้ทดสอบจรวดโดยใช้ความเร็วเสียง การออกแบบและสร้างชุดทดสอบวัดแรงขับจรวด การออกแบบและสร้างระบบขับดันจรวดขนาดเล็กระบบไฮบริด เป็นต้น นอกจากนี้ได้เยี่ยมชม ผลงานนวัตกรรมโดดเด่นซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับการยอมรับและถูกนำไปใช้งานในหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ ยานสำรวจใต้น้ำแบบมีสายควบคุม ปืนยาวไรเฟิลซุ่มยิงสำหรับนักทำลายใต้น้ำจู่โจมขนาด .338 นิ้ว และ ปืนยิงน้ำไร้แสงสะท้อน (Dyna-T Robot) ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มีความพร้อมในการเสริมสร้างศักยภาพการทำงานวิจัยร่วมกันพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อก้าวไปสู่โครงการต่างๆ ในระดับนานาชาติ ณ หอประชุมเบญจรัตน์ อาคารนวมินทรราชินี มจพ. เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564

ข่าวอื่นๆ